การจัดการการตลาดแนวใหม่

Custom Search
วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

การบริหารความเสี่ยง

ความเสี่ยง หมายถึง โอกาสที่จะเกิดความผิดพลาด ความเสียหาย การรั่วไหล ความสูญเปล่า หรือเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งอาจเกิดขึ้นในอนาคต และมีผลกระทบ หรือทำให้การดำเนินงานไม่ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายขององค์กรทั้งในด้านยุทธศาสตร์ การปฏิบัติงาน การเงิน และการบริหาร ซึ่งอาจเป็นผลกระทบทางบวกด้วยก็ได้ โดยวัดจากผลกระทบ (impact) ที่ได้รับ และโอกาสที่จะเกิด (likelihood) ของเหตุการณ์ ความเสี่ยงจำแนกได้ 4 ลักษณะ ดังนี้

Strategic Risk   ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในระดับยุทธศาสตร์
Operational Risk   ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในระดับปฏิบัติการ
Financial Risk   ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับด้านการเงิน
Hazard Risk   ความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องในด้านความปลอดภัย จากอันตรายต่อชีวิตและทรัพย์สิน
     (ธร สุนทรายุทธ, 2550, หน้า 152) ได้ให้ความหมายโดยสรุปว่า “ความเสี่ยง” คือเหตุการณ์หรือการกระทำใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นภายในสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน และส่งผลกระทบหรือสร้างความเสียหายหรือความล้มเหลว หรือลดโอกาสที่จะบรรลุเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ทั้งในระดับประเทศ ระดับองค์กร หรือหน่วยงานนั้น ๆ

     มีคำสองคำ ได้แก่ความเสี่ยง (risk) และความไม่แน่นอน (uncertainty) ส่วนมากจะถูกใช้ในความหมายเดียวกัน แต่ถ้าพิจารณาแล้วคำทั้งสองคำ มีความหมายแตกต่างกัน

     ความไม่แน่นอน หมายถึงความไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้นในอนาคตแน่  ในขณะที่คำว่าความเสี่ยง หมายถึง อัตราความไม่แน่นอนว่ามีมากน้อยเพียงใดถ้าการลงทุนใดมีความไม่แน่นอนในอัตราผลตอบแทนสูงความเสี่ยงก็จะสูง ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า “ความเสี่ยง คือ อัตราของความไม่แน่นอน” หรืออาจจะกล่าวรวม ๆ ว่า การบริหารจัดการที่ดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ นั้น จะต้องมีความเสี่ยงที่แน่นอน (certainty risk) เกิดขึ้นสำหรับผู้บริหารอยู่เสมอ และจะต้องป้องกันหรือกำจัดความเสี่ยงเหล่านี้ออกไปให้ได้ ซึ่งเกิดขึ้นจาก

1. ความผิดพลาดบกพร่อง อันเกิดจากการปฏิบัติของมนุษย์
2. ความผิดพลาดบกพร่องอันเกิดจากการทำงานของเครื่องจักร
3. ความสามารถของมนุษย์มีขีดจำกัด
4. การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมการดำเนินงาน เนื่องจากเกิดการผันแปร เปลี่ยนแปลง ที่อาจส่งผลต่อความล้มเหลวได้

     อีกความเสี่ยงหนึ่งที่มีลักษณะไม่มีความแน่นอน (uncertainty risk) เป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจหยั่งรู้ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด เช่น ภัยธรรมชาติที่รุนแรง แผ่นดินไหว อุทกภัย โคลนถล่ม หรือสึนามิ ยากที่จะหยั่งรู้ว่าเกิดขึ้นเมื่อใดอีก ความเสี่ยงที่ไม่มีความแน่นอนอาจเกิดภัยจากน้ำมือมนุษย์ เช่น การทุจริต สิ่งต่าง ๆ ข้างต้นไม่ว่าจะเป็นความเสี่ยงประเภทใด ผู้บริหารย่อมตระหนักถึงความสำคัญ ต้องหาทางป้องกัน และหาทางควบคุมความเสี่ยงเหล่านั้น

     มหาวิทยาลัยไรซ์ (อ้างถึงใน ประกอบ กุลเกลี้ยง, 2550, หน้า 19) กล่าวว่า การบริหารความเสี่ยง คือกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดเตรียมและการจัดหาเครื่องมือในการตัดสินใจที่จะช่วยลดผลร้าย หรือความสูญเสียขององค์กรให้น้อยลง การตัดสินใจทั้งหมดนี้เกี่ยวข้องกับกระบวนการ 5 ขั้นตอน คือ
1. การระบุความสูญเสีย (identifying loss exposures)
2. การตรวจสอบทางเลือกของเทคนิคความเสี่ยง (examing alternative)
3. การเลือกเทคนิคการบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุด (the best risk management techniques)
4. การใช้เทคนิคการบริหารความเสี่ยงที่ดีที่สุด (the chosen risk management techniques)
5. การติดตามผล (monitoring)

     มหาวิทยาลัยคาร์เนจิก เมลลอน (อ้างถึงใน ประกอบ กุลเกลี้ยง, 2550, หน้า 19) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การบริหารความเสี่ยงมีการประยุกต์ใช้ในหลายสาขาวิชา เช่น สาขาสถิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ จิตวิทยา สังคมศาสตร์ ชีววิทยา วิศวกรรมศาสตร์ พิษวิทยา การวิเคราะห์ระบบ การวิจัยปฏิบัติการ และทฤษฎีการตัดสินใจ เรียกกันว่า “risk management”

     สรุปความหมายของการบริหารความเสี่ยง หมายถึง กระบวนการที่ใช้ในการบริหารจัดการให้โอกาสที่จะเกิดเหตุการณ์ความเสี่ยงลดลง หรือผลกระทบของความเสียหายจากเหตุการณ์ความเสี่ยงลดลงอยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้ ซึ่งการจัดการความเสี่ยงมีหลายวิธี ดังนี้

1. การยอมรับความเสี่ยง (risk acceptance) เป็นการยอมรับความเสี่ยงที่เกิดขึ้นเนื่องจากความไม่คุ้มค่าในการจัดการควบคุมหรือป้องกันความเสี่ยง
2. การลด/การควบคุมความเสี่ยง (risk reduction) เป็นการปรับปรุงระบบการทำงาน หรือการออกแบบวิธีการทำงานใหม่ เพื่อลดโอกาสที่จะเกิด หรือลดผลกระทบ ให้อยู่ในระดับที่องค์กรยอมรับได้
3. การกระจายความเสี่ยง หรือโอนความเสี่ยง (risk sharing) เป็นการกระจายหรือถ่ายโอนความเสี่ยงให้ผู้อื่นช่วยแบ่งความรับผิดชอบไป
4. การหลีกเลี่ยงความเสี่ยง (risk avoidance) เป็นการจัดการกับความเสี่ยงที่อยู่ในระดับสูง และหน่วยงานไม่อาจยอมรับได้ จึงต้องตัดสินใจยกเลิกโครงการ/กิจกรรมนั้นไป (สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย, 2550)

     กล่าวโดยสรุป การบริหารความเสี่ยง หมายถึงกระบวนการในการลดความสูญเสีย ความล้มเหลวของหน่วยงาน ด้วยการค้นคว้าเทคนิคและวิธีการจัดการที่ดีที่สุดมาดำเนินการ เพื่อให้การดำเนินการมีระบบการเตือนภัย หรือการป้องกันความผิดพลาด หรือความเสี่ยงภัยล่วงหน้า

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การจัดการการเงิน