การจัดการการตลาดแนวใหม่

Custom Search
วันอังคารที่ 25 กันยายน พ.ศ. 2555

การเคลื่อนย้ายเงินทุน

การที่ระบบการเงินจะทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้นั้น ต้องมีสถาบันต่าง ๆ มาอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายเงินทุนโดยสถาบันเหล่านั้นคือกลไกที่อยู่ภายใต้ ระบบการเงิน (financial system) ที่เป็นกลไกสำคัญของการเคลื่อนย้ายเงินทุนรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งทุกหน่วยในตลาดการเงินจะทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ (ศุภชัย ศรีสุชาติ, 2547, หน้า 4) โดยสามารถสรุปได้ ดังแสดงในภาพ 1

     จากภาพ 1 โครงสร้างของรูปแบบการเคลื่อนย้ายเงินทุน แสดงให้เห็นทางเลือกในการระดมเงินทุนของภาคเอกชนใน 3 ช่องทาง โดยแต่ละช่องทางจะมีความแตกต่างในเรื่องลักษณะการไหลของเงินทุนจากเจ้าของเงินทุนมาสู่ผู้ต้องการเงินทุน และกระบวนการ เพื่อให้ได้มาซึ่งความต้องการที่ตรงกันจากทั้งสองฝ่าย อันจะทำให้การไหลของเงินทุนเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งนี้ อาจพิจารณาจากภาพได้ว่า ช่องทางที่ (1) และช่องทางที่ (3) เป็นลักษณะของการจัดหาเงินทุนทางตรง ในขณะที่ช่องทางที่ (2) เป็นการจัดหาเงินทุนในทางอ้อม โดยมีรายละเอียด คือ (ศุภชัย ศรีสุชาติ, 2547, หน้า 5-7)

1. การระดมเงินทุนโดยตรงภายในกิจการ เป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เกิดขึ้นระหว่างบุคคลต่าง ๆ ภายในกิจการเอง ซึ่งมิได้มีสถาบันใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง ตามที่ได้อธิบายไปแล้วในเรื่องการเคลื่อนย้ายเงินทุนภายในกิจการ โดยข้อเสียของการระดมทุนแบบนี้ คือ ปริมาณเงินทุนที่ระดมได้มักไม่มากนักและอาจไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทั้งนี้ ที่มาของเงินทุน ยังเป็นของเจ้าของกิจการเองในส่วนของกำไรสะสมที่กิจการเก็บสะสมไว้

2. การเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านระบบสถาบันการเงิน เป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนทางอ้อม ซึ่งมีความสำคัญมากต่อระบบการเงินไทย คือ การระดมทุนโดยผ่านระบบธนาคารพาณิชย์ หรือการกู้หรือการให้สินเชื่อ ซึ่งมีแนวคิดเบื้องต้นมาจากการต้องการแก้ไขปัญหา ของความต้องการที่ไม่ตรงกันในด้านการระดมทุน ระหว่างผู้มีเงินทุนส่วนเกิน และผู้ขาดแคลนเงินทุน โดยสถาบันการเงินสามารถลดปัญหาเรื่อง จำนวนเงินทุน อัตราผลตอบแทนที่ต้องการจากการลงทุน และระยะเวลาการลงทุนของผู้มีเงินทุนต้องการที่ต่างจากปริมาณเงินทุน ดอกเบี้ย จ่ายคืนเงินกู้ยืม และระยะเวลาที่จะสามารถหาเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยมาใช้คืนให้แก่เจ้าของเงินทุนของผู้ขาดแคลนเงินทุน

     ในกรณีที่หากไม่มีระบบการเงินมารองรับ ต้นทุนในการจัดหาเงินทุนภายใต้ปัญหาของความต้องการที่ไม่ตรงกันในด้านการระดมทุนดังกล่าวข้างต้น ย่อมมีมูลค่าสูง ในที่สุดอาจจะไม่มีการเคลื่อนย้ายเงินทุนในระบบการเงินดังกล่าว ด้วยเหตุนี้ สถาบันการเงินจึงก่อตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ระดมเงินออมจากผู้มีเงินทุนส่วนเกินในปัจจุบันจากทั้งระบบการเงิน โดยสัญญาว่าจะนำเงินทุนดังกล่าวมาคืนให้ในอนาคตพร้อมดอกเบี้ย แล้วนำเงินออมที่ระดมได้นั้นมาให้สินเชื่อแก่ธุรกิจในภาคเอกชนที่ต้องการเงินทุนในปัจจุบัน และสัญญาที่จะจ่ายชำระคืนพร้อมทั้งดอกเบี้ยเต็มจำนวนในอนาคต เพื่อให้สถาบันการเงินจ่ายคืนให้แก่เจ้าของเงินทุน ส่วนผลตอบแทนที่สถาบันการเงินได้รับในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางของการเคลื่อนย้ายเงินทุน คือ ส่วนต่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก หรือที่นิยมเรียกว่า Spread

     ข้อดีของการเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านระบบสถาบันการเงินนี้ คือ ผู้ขาดแคลนเงินทุนสามารถได้รับเงินทุนตามจำนวนที่ต้องการอย่างครบถ้วน ในเวลาที่เหมาะสมและไม่ยุ่งยากเกินไป แต่มีภาระค่าใช้จ่ายให้กับสถาบันการเงินสูงเพิ่มขึ้น อีกทั้งต้องยินดีให้สถาบันการเงินทำการตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัท ทั้งนี้การที่สถาบันการเงินพยายามที่จะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนในปริมาณที่สูง ทำให้สถาบันการเงินต้องบริหารเงินทุน ภายใต้ความเสี่ยงทางการเงินและทางธุรกิจอย่างระมัดระวังและมีระดับที่เหมาะสม กับการดำเนินธุรกิจต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non Performing Loan--NPL) ซึ่งเป็นตัวการสำคัญที่กระทบต่อความเชื่อมั่นในระบบสถาบันการเงิน ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในช่วงปี พ.ศ. 2540

3. การเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านตลาดการเงิน การเคลื่อนย้ายเงินทุนด้วยช่องทางนี้เป็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนทางตรง เพราะเป็นการเคลื่อนย้ายของเงินทุนโดยตรงจากเจ้าของเงินทุนสู่เจ้าของกิจการซึ่งต้องการเงินทุนในตลาดการเงิน โดยไม่ต้องผ่านสถาบันการเงิน สิ่งสำคัญของการเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านตลาดการเงินนี้ คือ ทั้งสองฝ่ายจะต้องพึงระลึกอยู่เสมอว่าตนเปรียบเสมือนผู้ซื้อและผู้ขายในตลาดสินค้าทั่วไป แต่มีข้อแตกต่างในประเด็นที่ว่าสินค้าในที่นี้เป็นสินค้าทางการเงิน ที่แลกเปลี่ยนกันในตลาดการเงิน หรือเรียกอีกนัยหนึ่งได้ว่า สินทรัพย์ทางการเงิน (financial asset)

     ข้อดีของการเคลื่อนย้ายเงินทุนผ่านตลาดการเงิน คือ ผู้ขาดแคลนเงินทุนสามารถระดมทุนได้ในปริมาณสูง และยังเป็นการทำธุรกรรมในระบบที่มีความโปร่งใส และสามารถตรวจสอบได้ ภายใต้การกำกับและดูแลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น โดยตลาดการเงินทำหน้าที่สำคัญในการอำนวยความสะดวก และอาจเป็นสถานที่ (เชิงกายภาพ) หรือระบบที่เอื้ออำนวยให้ผู้ขาดแคลนเงินทุนและผู้มีเงินทุนส่วนเกินมาพบกันและแลกเปลี่ยนความต้องการซึ่งกันและกัน ทั้งนี้ ในระบบของตลาดการเงินยังสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายรูปแบบซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทตราสารหรือสินทรัพย์ทางการเงินที่มีอยู่ในตลาดการเงิน หรือรูปแบบของการระดมทุน ซึ่งอาจแสดงภาพโดยรวมได้ ดังแสดงในภาพ 2

     ตลาดการเงินในฐานะเป็นตัวกลางทางการเงินที่ช่วยในการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากเจ้าของเงินทุนสู่กิจการซึ่งต้องการเงินทุน โดยสามารถแบ่งตลาดการเงินประเภทต่าง ๆ ตามเกณฑ์อายุของสินทรัพย์ทางการเงินที่นำออกขายได้เป็นตลาดเงินและตลาดทุน (ศุภชัย ศรีสุชาติ, 2547, หน้า 8)

      ตลาดเงิน (money market) เป็นแหล่งระดมเงินออมระยะสั้น (ไม่เกิน 1 ปี) แล้วจัดสรรให้กู้ยืมแก่ผู้ต้องการเงินทุน ตลาดเงินยังอาจแยกออกเป็นตลาดเงินของทางการ และตลาดเงินของเอกชน ซึ่งตลาดเงินของทางการได้แก่ ตลาดเงินให้กู้ยืมปกติของธนาคารแห่งประเทศไทย ตลาดซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล (repurchase market) ส่วนตลาดเงินเอกชนประกอบด้วย การกู้ยืมระหว่างสถาบันการเงิน และตลาดตราสารการพาณิชย์ สถาบันที่อยู่ในตลาดเงินได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และโรงรับจำนำ ส่วนตราสารทางการเงินประกอบด้วย ตั๋วสัญญาใช้เงิน (promissory notes) ตั๋วเงินคลัง (treasury bills) เป็นต้น โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นผู้ดูแล ตลาดเงินในประเทศไทยนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดในภาคการเงิน ทั้งนี้เพราะเป็นแหล่งที่ระดมเงินออมและให้สินเชื่อมากที่สุด

     ตลาดทุน (capital market) เป็นแหล่งระดมเงินออมระยะยาว (เกินกว่า 1 ปี) เพื่อจัดสรรให้กับผู้ต้องการเงินทุนระยะยาว โดยเฉพาะภาคธุรกิจ สถาบันที่อยู่ในตลาดทุนได้แก่ บริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ตราสารทางการเงินหรือหลักทรัพย์ในตลาดทุน ประกอบด้วย หุ้นสามัญ (ordinary shares) หุ้นบุริมสิทธิ (preferred shares) หุ้นกู้ (debentures) พันธบัตรรัฐบาล (government bond) หน่วยลงทุนของกองทุนรวม และใบสำคัญแสดงสิทธิ (warrants) เป็นต้น หน่วยงานที่ดูแลตลาดทุนคือคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

การจัดการการเงิน